อุ่นแล้วมันก็จะกลับมาเป็นวุ้นอีกค่ะ เพราะมันมีคอลลาเจนที่ละลายมาจากเอ็น หนัง ข้อ ของหมู
แกงที่ต้องอุ่น ก็ต้องอุ่นค่ะ เช่น แกงฮังเล แกงผักเชียงดา ต้มส้มปลาใส่ส้มป่อยแต่แกงกระด้าง ฟังชื่อมันสิคะ มันต้องกระด้างแบบนั้น ถ้าจะอุ่น มันก็จะเป็นน้ำแบบข้นๆ หนืดๆ แม้จะร้อนก็ตาม
ดังนั้น คนสมัยก่อนเขาถึงกินกระด้าง เพราะเป็นอาหารฤดูหนาว หน้าอื่นมันไม่กระด้างค่ะ และคนไม่ทำกัน
ยกเว้นแกงปลอมๆ ใส่ผงวุ้นนางเงือก แกงจะเป็นวุ้นๆ กรอบๆ แบบวุ้นเป็ด
ไม่ใช่นิ่มๆ แบบเจลาตินแบบแกงกระด้างแท้ๆ
น่าตื่นเต้นดีเมื่อพบว่า แกงกระด้างมีแฝดคนละฝาอยู่อีกหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น ถิทดม (Thịt đông) หรือที่แปลตรงตัวว่าเนื้อแข็ง เป็นอาหารที่ทำจากเนื้อไก่หรือเนื้อหมู เพิ่มหนังหมู หน้าตาละม้ายกับแกงกระด้างของเราอยู่พอสมควร ปรุงรสออกเค็มและมีการใส่ผักบางชนิด เช่น เห็ดหูหนูหรือแครอท กินแกล้มกับผักดองและข้าวสวย นับเป็นเมนูที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวเวียดนามเหนือ ในเทศกาล เต๊ด (Tết Nguyên Đán) หรือตรุษญวน อันถือเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ของเวียดนามนั่นเองทางฝั่งจีนก็ยังมีเมนู โร่วผีโต้ง (肉皮冻 Ròupí dòng) ซึ่งมีวัตถุดิบหลักเป็นหนังหมู ราดด้วยน้ำราดที่ปรุงจากน้ำส้มสายชู ซอสถั่วเหลือง น้ำมันงา น้ำมันพริกหรือพริกแห้ง และงาขาว นับเป็นเมนูที่คล้ายแกงกระด้างมากๆ อีกเมนูหนึ่ง
ไม่เพียงแต่เฉพาะในเอเชียเท่านั้น เมนูที่ใช้ความเด้งดึ๋งจากเจลาตินธรรมชาติเช่นนี้ พบอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น อย่าง Aspic ในตระกูลสำรับฝรั่งเศส หรือในประเทศอื่นๆ ทั้งยุโรปและรัสเซีย
เชื่อกันว่าเมนูหนุบหนับแห่งฤดูกาลเหล่านี้ไม่ได้มีต้นกำเนิดที่ใดที่หนึ่งแล้วแพร่ออกไป หากแต่เกิดขึ้นในลักษณะใกล้เคียงกันเพราะความคล้ายคลึงของสภาพอากาศ ความนิยมในการบริโภคเนื้อสัตว์ และที่สำคัญคือความช่างสังเกตของคนแต่ละชนชาติที่หยิบเอาคุณสมบัติตามธรรมชาติของวัตถุดิบมาสร้างสรรค์ให้เป็นความอร่อยได้เสมอไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขใด
พลวัตของแกงกระด้างไม่ได้หยุดอยู่ที่การใส่หรือไม่ใส่เครื่องแกงเท่านั้น ใน พ.ศ. นี้ที่ลมหนาวแทบไม่แวะเวียนมาทักทาย แกงกระด้างก็ได้พัฒนาตัวเองไปตามเทคโนโลยีอาหารที่ครอบคลุมขึ้น สารพัดความพยายามที่จะหาสิ่งอื่นมาปรุงแกงแทนลมหนาว ไม่ว่าจะเป็นการแช่ตู้เย็นไปจนถึงการใส่ผงวุ้นเย็นเพื่อให้น้ำแกงฟอร์มตัวเป็นวุ้นใสๆ ซึ่งแน่นอนว่าวิธีหลังเป็นที่นิยมมากกว่าเพราะความสะดวกสบาย แต่ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้แกงกระด้างก็จะรับรู้ได้ถึงความต่างตั้งแต่ช้อนแรกที่ตักลงไปในเนื้อวุ้น เพราะรสสัมผัสระหว่างเจลาตินธรรมชาติและวุ้นสังเคราะห์จากสาหร่ายนั้นต่างกันลิบลับ หากแต่ในบางวันที่นึกถึงมื้อเช้าในหน้าหนาวของวัยเด็กก็อาจต้องยอมหยวนๆ ให้แกง (แข็ง) กระด้างฝีมือผงวุ้นบ้างเพื่อคลายความคิดถึง
https://krua.co/food_story/kangkradang/