Go back to previous page
Forum URL: https://www.palm-plaza.com/cgi-bin/CCforum/board.cgi
Forum Name: ThE LoveR
Topic ID: 243274
Message ID: 36
#36, RE: จริงหรือที่กษัตริย์อยุธยาแท้จริงเป็นเขมร มีการนำภาษาเขมรมาใช้ในวังเช่นคำว่า เสด็จ และจากบันทึกของพม่าก็เรียกพวกอยุธยาว่า ขอม
Posted by fact นะคะ fact on 05-Mar-23 at 09:45 AM
In response to message #32
ถ้า อาณาจักรอยุธยา = ประเทศไทย

คนไทยกับเขมร คือต้องเป็นญาติที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด มากกว่าลาวและจีนด้วย เพราะเขมรนับว่ามีบทบาทต่อสังคมอยุธยามาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา เพราะอาณาจักรเขมรโดยเฉพาะในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้แผ่อิทธิพลเข้ามายังบริเวณภาคกลางของสยาม และ “ชาวเสียม” ก็มีส่วนร่วมในสงครามที่เขมรทำกับจาม ปรากฏเป็นภาพสลักที่ปราสาทนครวัดที่มีชื่อเรียกว่า “เสียมกุก”

นอกจากนี้ เขมรยังได้ทิ้งร่องรอยทางศิลปกรรมเอาไว้ในรูปที่เรียกว่า “ศิลปะบายน” (Bayon Art) เช่น ปรางค์สามยอดที่เมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ปราสาทสระมรกตที่เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ปราสาทวัดกำแพงแลงเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ฯลฯ

จารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่งทําขึ้นโดยพระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้กล่าวถึงนามเมืองสำคัญในเขตภาคกลางของสยาม 6 เมือง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงส่งพระพุทธรูปจำหลักแทนพระองค์ที่เรียกว่า “พระชัยพุทธมหานาถ” ไปประดิษฐานไว้ เมืองทั้งหกมีรายนามและข้อสันนิษฐานถึงอาณาเขตที่ตั้งกันดังต่อไปนี้

(1) “ลโวทยปุระ” (ละโว้ ลวปุระ หรือลพบุรี จังหวัดลพบุรี)

(2) “สุวรรณปุระ” (อาจเป็นที่เนินทางพระ สามชุก หรือไม่ก็ตัวเมืองสุพรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี)

(3) “ศัมพูกปัฏฏะนะ” (เมืองโบราณที่สระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี)

(4) “ชัยราชปุระ” (มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีร่องรอยการเป็นปราสาทเขมรเก่า)

(5) “ศรีชัยสิงหปุระ” (บางท่านว่าเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ขณะที่บางท่านเห็นต่างว่าเป็นเมืองสิงห์บุรีเก่าที่ตําบลจักรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี แต่โดยทั่วไปยอมรับว่าคือเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี)

(6) “ศรีชัยวัชรปุระ” (ศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี)

ปราสาทเขมรได้พัฒนาคลี่คลายรูปแบบต่อมากลายเป็นมหาธาตุทรงปรางค์ บางครั้งเรียกว่า “ทรงฝักข้าวโพด” เพราะเป็นเจดีย์ที่มีรูปทรงคล้ายข้าวโพด มหาธาตุทรงปรางค์ถือเป็นประธานหลักของเมืองสำคัญต่างๆ อาทิ ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี ปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุวรวิหาร เมืองราชบุรี ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี ปรางค์ประธานวัดจุฬามณีและวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ปรางค์ประธานวัดหน้าพระธาตุ เมืองสิงห์บุรี ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสุพรรณบุรี และวัดมหาธาตุ กรุงศรีอยุธยา ก็เป็นมหาธาตุทรงปรางค์ เช่นกัน มหาธาตุทรงปรางค์นี้เป็นที่นิยมทำมาจนถึงวัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้งที่กรุงเทพฯ

จากการที่เขมรเป็นศูนย์กลางการแพร่วัฒนธรรมอินเดียโบราณ ทำให้วัฒนธรรมเขมรที่ผสมผสานระหว่างอินเดียกับพื้นเมืองกลายเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมจารีตในรัฐลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารุ่นหลัง ที่ยังคงอ้างอิงและสร้างสิทธิธรรมจากการสืบทอดวัฒนธรรมเขมรยุครุ่งเรืองหรือเขมรพระนคร ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีหลวงหรือขนบธรรมเนียมของราชสำนักหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นภาษาราชสำนักหรือราชาศัพท์ก็พัฒนามาจากภาษาเขมรโบราณ ภาษานี้ใช้สื่อสารแพร่หลาย ดังจะเห็นได้จากจารึกและใบลานสมัยอยุธยา ที่นิยมจดจารด้วยภาษาเขมรโบราณ การพระราชพิธี 12 เดือน (ทวาทศมาส) พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไปจนถึงการแต่งกายของชนชั้นนำอยุธยาในยุคต้นและศิลปะการฟ้อนรำต่างๆ รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่พราหมณ์เขมรมีบทบาทต่อราชสำนักอยุธยา

ญาติชิดสนิทใกล้ ชนชั้นนำอยุธยากับเขมรพระนคร
ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างอยุธยากับเขมรยังมีสาเหตุปัจจัยมาจากความเป็นเครือญาติชาติพันธุ์ระหว่างชนชั้นนำทั้งสองบ้านเมือง โดยเฉพาะราชวงศ์อู่ทองที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเขมรพระนคร เพราะเมืองลพบุรีเคยเป็นเมืองลูกหลวงของเขมรพระนครในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มาก่อน ในเวลาต่อมา เมืองลพบุรียังคงมีความสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงของราชอาณาจักร เพียงแต่เปลี่ยนสถานะจากเมืองลูกหลวงของเขมรพระนคร มาเป็นเมืองลูกหลวงของอยุธยา ดังจะเห็นได้จากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) หลังสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสองค์โตขึ้นไปครองเมืองลพบุรี

“ราชวงศ์อู่ทอง” จริงๆคือ “ราชวงศ์ละโว้” หรือ “ราชวงศ์ลพบุรี” เพราะคำว่า “ราชวงศ์อู่ทอง” มาจากความเชื่อว่ากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ทรงอพยพมาจากเมืองอู่ทอง แต่ที่จริงราชวงศ์นี้สืบสายมาจากวงศ์กษัตริย์ผู้ครองเมืองลพบุรี ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจของเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน

จากที่ชนชั้นนำอยุธยามีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเขมรพระนครจึงเป็นเหตุให้เอกสารล้านนาเรียกกรุงอโยธยาว่า “กรุงกัมโพช” ไปด้วย อโยธยาในช่วงก่อนสถาปนากรุง พ.ศ. 1893 ก็คือเมืองท่าหน้าด่านทางตอนใต้ของแคว้นลพบุรีหรือรัฐละโว้ ต่อมาพัฒนากลายเป็นเมืองหลวงของรัฐละโว้แทนที่เมืองลพบุรี ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสัมพันธ์กับการเปลี่ยนราชวงศ์ที่นับถือพุทธมหายานแบบเขมร มาเป็นกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ แต่ยังคงอ้างสิทธิสืบสายพระโลหิตมาจากกษัตริย์ราชวงศ์ก่อนหน้า

แม้เมื่อหลังสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว กษัตริย์ผู้ครองเมืองจะหันไปมีสายสัมพันธ์กับแคว้นสุพรรณภูมิและนครศรีธรรมราช แต่ก็มิได้ละทิ้งขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมเดิมของตนที่เป็นฝ่ายนิยมเขมร การทวีความสำคัญของพุทธศาสนาแบบเถรวาทลังกาวงศ์ ยังทำให้กษัตริย์อโยธยาสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแคว้นสุโขทัยอีกด้วย เนื่องจากอโยธยาเป็นรัฐที่มีปฏิสัมพันธ์กับรัฐข้างเคียงกรอบทิศเช่นนี้ คือ ทิศตะวันออกสัมพันธ์กับเขมรพระนคร ทิศใต้สัมพันธ์กับนครศรีธรรมราช ทิศตะวันตกสัมพันธ์กับสุพรรณภูมิ ทิศเหนือสัมพันธ์กับสุโขทัย จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์หนึ่งไปสู่อีกราชวงศ์หนึ่ง และที่สำคัญคือเปิดต่อการเข้ามาของคนภายนอกรอบทิศตลอดเวลา

ความนิยมในศิลปวัฒนธรรมเขมรพระนครยังมีอยู่ในหมู่ชนชั้นนำอยุธยา ล่วงมาถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ทรงให้ช่างไปศึกษาและถ่ายแบบปราสาทสำคัญๆ ที่เมืองพระนครมาจำลองเป็นพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งรูปแบบจะคล้ายคลึงกับปราสาทที่ลานหน้าจักรวรรดิที่เมืองนครธม นอกจากนี้ ยังจำลองรูปแบบและผังมาสร้างปราสาทนครหลวงและวัดไชยวัฒนารามขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย