Go back to previous page
Forum URL: https://www.palm-plaza.com/cgi-bin/CCforum/board.cgi
Forum Name: ThE LoveR
Topic ID: 244585
Message ID: 25
#25, RE: รถไฟอินโดนีเซีย นั่งข้ามระหว่างเมือง ระหว่างจังหวัด สภาพดีมาก นี่นั่งเบาะนิ่ม ติดแอร์หมดแล้ว ดูคลิปนี้ ทำให้รู้เลยว่ารถไฟไทยล้าหลังฉิบหาย
Posted by ยิ่งรัก on 06-Apr-23 at 01:22 PM
In response to message #24
ไม่ใช่แค่อินโด รถไฟมาเลเซียทุกชั้นเป็นรถแอร์ 100% เช่นกัน

ของมาเลเซียนี่ไร้รถร้อนมาเกือบ 20 ปี ประเทศมาเลเซียไม่มีรถไฟร้อนมาตั้งแต่ปี 2007 ทุกขบวน ทุกชั้น ทุกคลาสถูกเปลี่ยนเป็นขบวนรถปรับอากาศทั้งหมด แม้ในคลาสที่ล่างที่สุด ซึ่งเทียบกับรถไฟธรรมดาหวานเย็นชั้น 3 ของไทย ก็ยังเป็นรถปรับอากาศ เพราะเขาคิดว่าแอร์เย็นๆไม่ใช่ Option ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่เป็นความสบายขั้นพื้นฐานของขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึง

ซึ่ง KTM มีโครงข่ายเส้นทางครอบคลุมทั้งประเทศที่ 98% ของเส้นทางรถไฟทั้งหมดในประเทศมาเลเซีย

ส่วนเส้นทางรถไฟรัฐซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียวระยะทางเพียง 134 กิโลเมตร ซึ่งบริหารโดย Sabah State Railway เป็นเส้นทางรถไฟที่ทางรัฐซาบาห์สร้างและบริหารเอง ไม่เกี่ยวข้องกับ KTM และยังมีตู้โดยสารร้อนอยู่ แต่ก็เริ่มมีการเปลี่ยนบางตู้เป็นรถปรับอากาศแล้วโดยได้รับความช่วยเหลือจากทาง KTM

แม้กระทั่งระบบรถไฟชานเมืองหรือ Komuter ที่วิ่งออกจากเมืองสำคัญของรัฐต่างๆ ในมาเลเซียที่ไม่ใช่เพียงแค่เมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก็เป็นระบบปรับอากาศทั้งหมด ที่ใกล้กับไทยที่สุดคือสาย KTM บัตเตอร์เวิร์ธ – ปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อเข้าสู่เกาะปีนังทั้งทางท่าเรือ และรถบัส ก็เป็นระบบปรับอากาศที่มีทั้งระบบไฟฟ้าและดีเซลราง และยังเป็นขบวนรถปรับอากาศทั้งหมด

หากเป็น KTM Platinum ซึ่งเป็นระบบรถด่วนจากปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา – เมืองสุไหงปัตตานี รัฐเคดะห์ ระยะทาง 150 กิโลเมตร ค่าตั๋วอยู่ที่ประมาณ 30 ริงกิต หรือ 245 บาท ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

แต่ถ้าเป็นรถไฟชานเมือง Komuter จะมีค่าโดยสารประมาณ 8 ริงกิต หรือ 65 บาท ซึ่งจอดทุกสถานี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ก็ยังเป็นระบบปรับอากาศทุกตู้เช่นกัน

ส่วนรถไฟจากปาดังเบซา – บัตเตอร์เวอร์ธ ราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 11.6 ริงกิต หรือ 94 บาท กับระยะทาง 170 กิโลเมตร

ฉะนั้นรถไฟมาเลเซียที่เป็นรถท้องถิ่นซึ่งเป็นคลาสต่ำที่สุดเทียบได้กับรถไฟชั้น 3 ของประเทศไทย ก็ยังเป็นรถแอร์ทั้งหมดแล้ว อีกทั้งค่าโดยสารถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับรายได้ของคนมาเลเซียที่ราวๆ เกือบ 30,000 บาทต่อเดือน

ความน่าแปลกใจก็คือ ประเทศไทยยังคงแบ่งคลาสของรถไฟ หรือรถเมล์โดยสาร โดยใช้คำว่า “รถปรับอากาศ” มาแบ่งแยกราคา ทั้งๆ ที่แอร์ไม่ใช่ของใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะรถยนต์ หรือบ้านเรือนที่ทุกวันนี้ คนในชุมชนแออัดบ้านยังติดแอร์กันได้แล้ว คนไทยรู้จักแอร์มานานมากกว่า 30 ปี และแอร์ก็เข้าไปอยู่ในบ้านเรือน อาคารต่างๆ แบบที่คนทั่วไปเข้าถึงมานานกว่า 20 ปี

แต่แปลกที่ว่าระบบขนสงมวลชนของไทยยังคงใช้การติดตั้งระบบปรับอากาศทำความเย็นมาเป็นตัวแบ่งการบริการ ซึ่งในประเทศที่เรามองเขาเป็นคู่แข่งนั้น แอร์เย็นๆ ฉ่ำๆ ในรถสาธารณะเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ และเป็นความสะดวกสบายที่เบสิคที่สุดที่จะให้บริการกับประชาชน มันไม่ควร หรือไม่ใช่ Option พิเศษที่ต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อที่จะได้นั่งสบายๆ ไม่ต้องทนร้อน ทนดมฝุ่นควันระหว่างทาง ท่ามกลางอุณหภูมิประเทศเมืองร้อนที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ยังไม่ได้พูดถึงระบบรถเมล์มาเลเซียอย่าง rapidKL ที่ก็ไม่มีรถร้อนให้บริการมา 20 ปีแล้ว ซึ่งราคารถเมล์ใน KL เริ่มต้นที่ 1 ริงกิต หรือ 8 บาท และเป็นขนส่งมวลชนพื้นฐานที่สะดวกสบาย

ระบบตั๋วร่วมแบบบัตร Touch N' Go ที่บัตรเดียวใช้จ่ายได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ ทางด่วน และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีมาเป็น 20 ปีแล้วเช่นกัน แต่บัตรเดียวใช้ได้ทุกระบบนั้นในกรุงเทพก็พูดกันมาเป็น 10 ปียังไม่สามารถทำได้จริง จนตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปไกลแล้วก็ยังไม่สามารถทำสิ่งพื้นฐานนี้ได้เลย

ประเทศไทยยังมีปัญหาที่ต้องการการพัฒนาอีกมากมายในทุกๆ มิติ ฉะนั้นการมองเป้าหมายไปข้างหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร หรือการพัฒนาประเทศให้สูงขึ้นยังคงต้องพยายามให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วหัวแถวของโลกยังไม่หยุดพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ดีกว่าไปเรื่อยๆ ของผู้คนในชาติที่ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนามายาวนาน จะต้องพึงพอใจแค่นี้จริงๆ หรือ?

ฉะนั้นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าประเทศอื่นๆ เขามีตรงไหนที่ดีที่เราควรเอาเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่บอกว่าเรายกชาติไปเทียบแล้วเหยียดชาติตัวเองว่าด้อยกว่า แต่มันทำให้เรารู้ว่าเราต้องเร่งสปีดตัวเองอย่างไรให้ทันกับชาติที่อยู่ระดับสูงกว่าเรา เพราะโลกนี้ขับเคลื่อนด้วยการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่เร่งตัวเอง สุดท้ายเรานี่แหละจะถูกโลกทิ้งไว้ข้างหลัง และลำดับความสำคัญของไทยในเวทีนานาชาติจะค่อยๆ ลดลง และจะส่งผลต่ออำนาจต่อรอง อัตราการแข่งขันทางการค้า การลงทุน หรือแม้แต่เศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย

การเปรียบเทียบสิ่งที่ดีกว่าของประเทศอื่นๆ ให้เห็นไม่ใช้การเหยียบย่ำประเทศตัวเอง แต่เป็นการทำให้เราตระหนักว่าเราเองก็ต้องพัฒนาให้ทันให้ดีเท่าเขา ไม่ใช่เพื่อหน้าตาประเทศ แต่มันคือคุณภาพชีวิตโดยรวมของพลเมืองที่จะได้รับบริการที่ดีและสะดวกสบาย อันมาจากเงินภาษีของเรานั่นเอง