เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางเพิ่มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาทำธุรกิจ แต่มักจะยื่นแบบรายได้ของธุรกิจให้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ต้องเข้าเกณฑ์จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและกรมสรรพากรอนุญาตให้หักรายจ่ายแบบเหมาจ่ายได้ อาทิ ธุรกิจที่ยื่นแสดงรายได้ต่อปี 1.5 ล้านบาท กรมสรรพากรอนุญาตให้หักรายจ่ายแบบเหมาจ่ายได้ 60% ส่วนที่เหลือนำมาเสียภาษี ก็เสียภาษีปีละหมื่นกว่าบาทเท่านั้น
นายพิชัยกล่าวว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรกำหนดว่าธุรกิจที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) นอกเหนือจากภาษีอื่น ๆ ฉะนั้นในกรณีที่ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เช่น อาจมีรายได้ 1.5 ล้านบาท อาจจะเพิ่มเป็นแวตประเภทที่ 2 เหมือนกรณีประเทศในยุโรปทำ อาจขอเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% ของรายได้ 1.5 ล้านบาท ประเมินว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านบาท
หากสามารถขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่มได้กว้างขึ้น นำคนเข้าระบบให้มากขึ้น จะทำให้รัฐบาลจัดทำงบฯ ขาดดุลต่ำลง ปัจจุบันขาดดุลอยู่ที่ 4.4% ของจีดีพี อาจเหลือแค่ 3.5% หรือรัฐบาลนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ เช่น การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า สำหรับการลดรายจ่ายของรัฐบาลทำได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่มีข้าราชการเกือบ 3 ล้านคน จำเป็นต้องเพิ่มรายได้ ปัจจุบันการจัดเก็บจากภาษีของรัฐบาลทำได้เพียง 15.5% ของจีดีพีเท่านั้น ในอดีตเคยได้สูงถึง 17%...
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1804928